นายฮิเดกิ มากิ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ที่ยึดมั่นกับความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาตร์และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในระดับสูง เพื่อพัฒนาอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันทำให้ประชากรทั่วโลกมีช่วงอายุขัย (lifespan) ยาวนานขึ้น ในขณะที่ระยะเวลาของสุขภาพที่ดี (healthspan) กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนที่เท่ากับการเพิ่มขึ้นของอายุขัย ส่งผลให้แนวทางแก้ไขปัญหาด้านการชะลอวัยจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเพิ่มช่วงระยะเวลาของสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ อายุทางชีวภาพ (biological age) ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้จากรูปแบบการดำเนินชีวิต และอาหารที่รับประทาน เป็นตัวบ่งชี้ระยะเวลาของสุขภาพที่ดี ทำให้บทบาทของภาคอุตสาหกรรมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านการดำเนินชีวิตและการบริโภคที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
จากสาเหตุดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านการวิจัยกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย เนื่องจากเชื่อมั่นในศักยภาพของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและโภชนาการระดับแนวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือระหว่างแวดวงวิชาการและภาคเอกชนในครั้งนี้จะช่วยกระดับองค์ความรู้ด้านการชะลออายุทางชีวภาพซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งประชากรไทยในฐานะผู้บริโภค นอกจากนี้ในอนาคต บริษัทฯ อาจขยายความร่วมมือด้านงานวิจัยไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เพื่อร่วมศึกษาประสิทธิภาพของซุปไก่สกัดด้านการชะลอวัยในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น เพราะเรามีความเชื่อว่า สุขภาพที่ดีคือพื้นฐานของการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความหมาย สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทฯ ที่มุ่งจุดประกายความสดใสให้กับชีวิตของผู้คน (To inspire the brilliance of life)
นายโอเมอร์ มาลิค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประเทศไทยและอินโดไชน่า บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้การสนับสนุนการจัดทำ MOU เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (Super-aged Society) ภายในปี พ.ศ. 2583 และจากเป้าหมายร่วมของบริษัทในเครือซันโทรี่ด้านการสร้างความสดใสให้กับชีวิตของผู้คน บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้บริโภคมาตลอดการดำเนินงานกว่า 50 ปีในประเทศไทย ผ่านความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และทีมงานที่แข็งแกร่ง เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีคุณสมบัติด้านการชะลออายุทางชีวภาพและเพิ่มช่วงระยะเวลาของสุขภาพที่ดี เพราะการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ จึงได้สนับสนุนความร่วมมือระหว่างบริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด เอเชีย แปซิฟิก ที่ดูแลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราผลิตภัณฑ์แบรนด์ กับคณะเภสัชศาสตร์จาก 7 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยศิลปากร และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านโภชนาการเรื่องคุณสมบัติของซุปไก่สกัดในเรื่องการชะลออายุทางชีวภาพ นอกเหนือจากการมีคาร์โนซีนและวิตามินบี 12 ซึ่งมีส่วนช่วยในการทำงานตามปกติของระบบประสาทและสมอง โดยบริษัทฯ เชื่อว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้ ซึ่งมีกรอบระยะเวลา 5 ปี จะก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ เพื่อนำไปต่อยอดงานวิจัยต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับผู้บริโภคต่อไปในอนาคต
รองศาสตราจารย์ เภสัชกร สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในตัวแทนจาก 7 มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมโครงการวิจัยในครั้งนี้ เนื่องจากเรามีพันธกิจส่งเสริมการวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรม รวมถึงค้นหาประโยชน์ของสารต่าง ๆ จากธรรมชาติ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่เป็น functional food อยู่แล้ว งานวิจัยครั้งนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่น่าสนใจมาก เพราะมีจำนวนผู้ทดลองจำนวนมากพอที่จะสร้างหลักฐานทางวิทยศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือสูง อีกทั้งเป็นงานวิจัยแบบ multi center research ทำให้มหาวิทยาลัยมากถึง 7 แห่ง ได้มีโอกาสรวมพลังกันทำวิจัยเพื่อข้อมูลที่มีคุณภาพสูง เราคาดหวังที่จะได้ค้นพบความรู้ใหม่ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ซึ่งสามารถทำให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะสารอาหารที่มีอยู่ในไทย แหล่งวัตถุดิบจากไทย ซึ่งประโยชน์ไม่ใช่แค่มีต่อผู้บริโภค แต่ยังส่งผลถึงรากหญ้า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เกิดการจ้างงาน การนำเอาวัตถุดิบผลิตในประเทศมาทำให้เกิดผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง
ข้อมูลเพิ่มเติม
ผศ. ดร. ภญ. วิมล พันธุเวทย์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ความร่วมมือกับ SBFAP ครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งด้านงานวิจัย ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านการวิจัย ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจสำคัญของคณะฯ ด้านการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและนานาชาติ สร้างประโยชน์ให้กับบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการ นิสิต เจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านสาธารณสุข รวมถึงสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อต่อยอดงานวิจัยด้านการส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชากรในอนาคต นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพของคณะฯ ในการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ด้านการสร้างเสริมความผาสุกของสังคมด้วยการบูรณาการเภสัชศาสตร์และเครือข่ายนวัตกรรมต่อไป
ดร. ภก. สุพัฒน์ จิรานุสรณ์กุล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การได้มีโอกาสร่วมมือกับบริษัทระดับโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคณะฯ ตลอดจนคุณภาพการศึกษาของไทย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเป็นมหาวิทยาลัยแบบบูรณาการพร้อมคณะการศึกษาที่หลากหลาย อาทิ คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือด้านงานวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในเชิงประจักษ์ นำไปสู่การได้มาซึ่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โดยเราคาดหวังว่าองค์ความรู้ที่จะได้รับจากงานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค รวมถึงช่วยส่งเสริมกระบวนการวิจัยที่จะสามารถนำไปต่อยอด เพื่อพัฒนาโครงการวิจัยคลินิกอื่น ๆ ต่อไป
ผศ. ดร. ภญ. นฤพร สุตัณฑวิบูลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการความร่วมมืองานวิจัยด้านโภชนาการครั้งนี้เป็นการวิจัยผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและเป็นที่รู้จักของคนไทยมานาน โดยนำหลักการทางวิทยศาสตร์มาวิเคราะห์ แปลผล ผ่านการใช้เครื่องมือวัดที่แม่นยำ เพื่อหาหลักฐานพิสูจน์ถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ และการวัดคุณสมบัติของอาหารในการดูแลสุขภาพของมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของการทำงานระหว่างภาควิชาการและภาคเอกชน ซึ่งเมื่อพิสูจน์ได้ถึงประสิทธิภาพของสารอาหารดังกล่าว ก็จะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้โดยไม่ต้องใช้ยา
รศ. ดร. ภก. นิมิตร วรกุล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กว่าวว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีแนวทางการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์และพันธกิจที่มุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ เช่นเดียวกันกับทุกมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมงานวิจัยในครั้งนี้ ที่มีเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและสังคม การได้ร่วมงานกับทาง SBFAP เป็นโอกาสอันดี เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ เป้าหมายสำคัญของเราคือการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือการบริหารจัดการด้านโภชนาการ ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและ SBFAP เพื่อค้นหาข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมสุขภาวะของประชากรได้ นอกจากนี้ ทางคณะฯ ยังมุ่งหวังให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบริษัทฯ กับนักวิจัยและนักศึกษาของคณะฯ ต่อไปในอนาคต
ผศ. ดร. ภก. นรินทร์ จันทร์ศรี คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เห็นประโยชน์ของงานวิจัยครั้งนี้ในการสนับสนุนแนวโน้มด้านการรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน การวิจัยนี้จะทำให้เกิดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าชื่อถือ ช่วยให้ผู้บริโภคชาวไทยดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างมั่นใจมากขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดลองผ่านการพิสูจน์คุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยแล้ว โดยงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมเช่นนี้ จะสามารถนำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาสินค้าอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง
ผศ. ดร. ภญ. ดาราพร รุ้งพราย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพันธกิจเพื่อสังคมและสื่อสารองค์กร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางคลินิกและสาธารณสุขได้จริง การเข้าร่วมโครงการความร่วมมืองานวิจัยด้านโภชนาการนี้ สอดคล้องกับแนวทางของมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยเชิงนวัตกรรม การที่ SBFAP เลือกมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นหนึ่งในพันธมิตรทางวิชาการ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติ ซึ่งจะช่วยยกระดับการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์และโภชนาการในหลายมิติ อาทิ การพัฒนางานวิจัยด้านโภชนเภสัชศาสตร์ และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการศึกษาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น Biomarkers เพื่อวิเคราะห์อายุทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ในการวิจัยด้านโภชนเภสัชศาสตร์ นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย
